4. การเขียน





            การสื่อสารของมนุษย์มีพัฒนาการมาโดยลำดับ จากการส่งสารด้วยการพูดและรับสารด้วยการฟังมาสู่การส่งสารด้วยการเขียนและรับสารด้วยการอ่าน ซึ่งเกิดเมื่อมนุษย์ได้รังสรรค์ตัวอักษรขึ้นมาใช้แทนเสียงในภาษา ในยุคของการสื่อสารไร้พรมแดนการเขียนยิ่งมีบทบาทและความสำคัญมาแทนที่การพูดมากขึ้น ขณะที่การอ่านก็มีบทบาทและความสำคัญแทนการฟังมากขึ้นเช่นกัน หากแต่การพัฒนาความสามารถทางการใช้ภาษาโดยการเขียนเป็นเรื่องยาก แม้ในระดับอุดมศึกษา นักศึกษาก็ยังคงต้องได้รับการพัฒนาการเขียนอย่างต่อเนื่องไปอีก
            ท่านผู้รู้ได้กล่าวว่าการเขียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ความเป็นศาสตร์ของการเขียนอยู่ที่การมีกฎเกณฑ์หรือไวยากรณ์ที่ปราชญ์ได้กำหนดขึ้นซึ่งสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ส่วนด้านความเป็นศิลป์ของการเขียนก็คือความประณีตในการเลือกสรรถ้อยคำมาใช้เพื่อสื่อความหมาย การรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน โวหาร และลีลาต่าง ๆ ล้วนก่อให้เกิดความงามขึ้นในภาษาเขียนและทำให้ภาษาเขียนแตกต่างจากภาษาพูด ทั้งนี้บุคคลย่อมสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการฝึกฝนการเขียนควรเริ่มต้นจากความเป็นศาสตร์คือรู้กฎเกณฑ์หรือไวยากรณ์เป็นพื้นฐานเบื้องต้นก่อน ต่อเมื่อมีพื้นฐานหรือหลักการดีแล้วจึงค่อยแต่งเติมเพื่อความเป็นศิลป์เข้าไปในการเขียนซึ่งจะสามารถทาได้โดยไม่ยาก และหากสามารถฝึกฝนไปได้พร้อม ๆ กันทั้งศาสตร์และศิลป์ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด



1. ความรู้พื้นฐานของการเขียน
            ความหมายของการเขียน
            การให้คำจำกัดความแสดงความหมายของการเขียนนั้นอาจมีความแตกต่างไปได้หลายทางทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนะและเจตนาตามแง่มุมของวัตถุประสงค์และความสำคัญในการเขียนที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละบุคคล ดังตัวอย่างที่ยกมาต่อไปนี้
            “การเขียน คือ วิธีการสื่อความหมายที่เป็นผลผลิตทางความคิด จากความรู้ของผู้ส่งสาร แสดงออกมาทางลายลักษณ์อักษรภาษาไทย” (ประภาศรี สีหอาไพ, 2527)
            “การเขียน เป็นผลผลิตของกระบวนการคิด การอ่าน การฟัง เช่นเดียวกับการพูด ฉะนั้น ผู้ที่จะเขียนได้ดีย่อมต้องรู้จักคิด มีวิจารณญาณในการอ่านและการฟัง” (อวยพร พานิช, 2543)
            “การเขียน เป็นกระบวนการใช้ภาษาในภาคแสดงออก ซึ่งต้องสั่งสมความรู้และความคิดนามาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เป็นทักษะขั้นสุดท้ายที่ยากและซับซ้อนที่สุดในกระบวนการสื่อสารทางภาษา” (รังสรรค์ จันต๊ะ, 2441)
            จากนิยามของผู้เขียน 3 ท่าน ข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึง ความเกี่ยวข้องของทักษะการเขียนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อสารทางภาษา
เป็นผลผลิตที่เป็นลายลักษณ์อักษร จากกระบวนการคิด การอ่านและการฟัง ซึ่งมีความยากและซับซ้อน
            สำหรับนิยามความหมายของ การเขียน ที่ให้ความหมายครอบคลุมค่อนข้างชัดเจนนั้น กองเทพ เคลือบพณิชกุล ได้ประมวลจากนิยามซึ่งผู้รู้หลายท่านได้เขียนไว้ก่อนแล้ว ความว่า
            “การเขียน คือทักษะการใช้ภาษาชนิดหนึ่ง เป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด จินตนาการ ประสบการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกกับข่าวสาร เป็นการสื่อสารหรือสื่อความหมายโดยมีตัวหนังสือตลอดจนเครื่องหมายต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์แทนถ้อยคาในภาษาพูด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตามความมุ่งหมายของผู้เขียน การเขียนจึงเป็นทักษะที่มีหลักฐานถาวรปรากฏอยู่นาน และการเขียนจะเกิดผลดีหรือผลเสียนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อหาและกลวิธีการเขียนของผู้เขียน” (กองเทพ เคลือบพณิชกุล, 2542)

            ความสำคัญของการเขียน
            ทักษะการเขียนเป็นทักษะการสื่อสารที่มีบทบาทเพื่อการส่งสารเป็นหลัก มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้โดยทั่วไป ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา นักเรียน นักศึกษาจะต้องได้รับการพัฒนาความสามารถทางด้านการเขียนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า มีทักษะในการเขียน อย่างจริงจัง สม่ำเสมอและต่อเนื่อง
            กระบวนการเรียนการสอนผู้เรียนจะได้รับมอบหมายงานอันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนจากอาจารย์ผู้สอนในแต่ละรายวิชา ซึ่งล้วนต้องใช้ความรู้ความสามารถในทางการเขียนมากมาย อาทิ การเขียนตอบคำถามต่าง ๆ ท้ายคาบเรียนหรือเป็นการบ้าน การเขียนตอบแบบทดสอบอัตนัย การเขียนเรียงความ การเขียนบทความ บันทึกการเรียนรู้ ย่อความ สรุปความ ขยายความ งานเขียนประเภทอื่น ๆ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละสาขาวิชา รวมทั้งที่ขาดไม่ได้ คือ การเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการซึ่งเป็นงานประจำภาคเรียนของแทบทุกรายวิชาที่เรียกว่าภาคนิพนธ์ (Term Paper) เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการเขียนยังใช้เป็นแบบฝึกหัด แบบทดสอบ เพื่อการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน อีกด้วย
            ในอดีต การเขียนเป็นการเรียนวิธีการใช้ภาษาเขียนที่สละสลวย เพื่อใช้ในการจูงใจผู้อ่าน การเขียนจึงมุ่งเน้นที่งานเขียนในด้านความถูกต้องในการใช้ถ้อยคำภาษาและการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างถูกต้องละเมียดละไม แต่ภายหลังมีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการเขียนเพิ่มขึ้นเช่นแนวความคิดที่ว่า การเขียนมิใช่เป็นเพียงการบันทึกคำพูดเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่เป็นการสะท้อนความคิดในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายในของแต่ละบุคคลแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แนวความคิดนี้มุ่งเน้นที่จุดมุ่งหมายของการเขียน ซึ่งได้แก่การสื่อความคิดความเห็นของผู้เขียนให้ผู้อื่นทราบ และแนวความคิดว่าการเขียนมิได้เป็นเพียงวิธีการสื่อสารเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดสติปัญญา ทั้งในด้านการคิดค้นเรื่องราวที่จะนำมาเขียนและการจัดรูปแบบการนำเสนองานเขียนนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับการเขียนจึงเปลี่ยนไปเป็นการมุ่งเน้นที่กระบวนการเขียน
            การฝึกฝนให้เกิดพัฒนาการด้านการเขียนได้นั้น นักศึกษาควรมีความรู้ ความเข้าใจตลอดจนความตระหนักถึงความรู้ต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียนเสียก่อนเพราะจะทาให้การพัฒนาการเขียนเป็นไปได้ด้วยดีมีประสิทธิภาพ
  
2. การใช้ภาษาไทยเพื่อการเขียน
            เนื่องจากการเขียนเป็นวิธีการใช้ภาษาอย่างหนึ่งจึงมีความจำเป็นในเบื้องต้นที่ผู้เขียนจะต้องมีความรู้ในเรื่องหลักการใช้ภาษาที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเขียนโดยตรงอันได้แก่ เรื่อง การสะกดคำและการใช้คำ ประโยค สำนวนโวหาร ตลอดจนเรื่อง วรรคตอน การใช้เครื่องหมายในการเขียนแบบต่าง ๆ ซึ่งความรู้ในเรื่องเหล่านี้หากนักศึกษายังมีความบกพร่องอยู่ก็สามารถศึกษาสืบค้นได้จากแหล่งความรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในรูปแบบต่าง ๆ กัน เพื่อทบทวนฟื้นความเข้าใจได้โดยไม่ยากลำบาก

            จุดมุ่งหมายของการเขียนและการวิเคราะห์ผู้อ่าน
            1. จุดมุ่งหมายของการเขียน
                ในการเขียนแต่ละครั้ง ผู้เขียนจะต้องกeหนดจุดมุ่งหมายของตนขึ้นมาว่าจะเขียนเพื่อจุดมุ่งหมายใด เพราะจุดมุ่งหมายในการเขียนที่แตกต่างกันจะมีวิธีการเขียนที่ต่างกันด้วย จุดมุ่งหมายในการเขียนมีอยู่หลายประการ ดังนี้
                        1.1 การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เป็นการเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ความรู้ โดยนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง และมีลำดับขั้นตอนในการนำเสนอที่ชัดเจน การเขียนอาจเรียงตาม ลำดับเหตุการณ์ โดยภาษาที่ใช้ต้องกระชับรัดกุมเข้าใจง่าย
                        1.2 การเขียนเพื่ออธิบาย เป็นการเขียนชี้แจง ไขปัญหา บอกวิธีทา สิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยมุ่งหวังให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ จึงต้องเขียนตามลำดับขั้นตอน เหตุการณ์ เหตุผล โดยแบ่งเป็นหัวข้อ หรือย่อหน้าย่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
                        1.3 การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นการเขียนแสดงความคิดของผู้เขียนในเรื่อง ต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องของการเสนอแนวความคิด คำแนะนำ ข้อคิด ข้อเตือนใจ หรือบทปลุกใจ โดยผู้เขียนต้องมีข้อมูล หรือประเด็นที่จะกล่าวถึง จากนั้นจึงแสดงความคิดของตนที่อาจสนับสนุนหรือขัดแย้ง หรือนำเสนอแนวคิดใหม่เพิ่มเติมจากประเด็นข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงต้องมีข้อเท็จจริง หลักฐาน เหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นดังกล่าวของตน
                        1.4 การเขียนเพื่อชักจูงใจ เป็นการเขียนโน้มน้าวเชิญชวนให้ผู้อ่านสนใจในข้อเขียนที่นำเสนอ ซึ่งรวมถึงการเขียน เพื่อเปลี่ยนความรู้สึก ทัศนคติของผู้อ่าน ให้คล้อยตามกับข้อเขียนด้วย ผู้เขียนจาเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อเลือกใช้วิธีจูงใจได้เหมาะสมกับบุคคล นอกจากนี้ข้อเขียนที่ชักจูงใจจะต้องประกอบด้วยเหตุและผลที่น่าเชื่อถือและต้องแสดงให้ผู้อ่านประจักษ์ได้ว่าผู้เขียนเป็นผู้มีคุณธรรม สมควรแก่การคล้อยตาม
                        1.5 การเขียนเพื่อสร้างจินตนาการ เป็นการเขียนที่ผู้เขียนเลือกใช้ถ้อยคาอย่างประณีต เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและจินตนาการของตนออกมาให้ผู้อ่านเกิดภาพตามที่ตนเองต้องการ การเขียนในลักษณะนี้จะเป็นการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่ปรากฏออกมาในรูปบทร้อยกรอง เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร บทภาพยนตร์


            2. การวิเคราะห์ผู้อ่าน
            การเขียนเป็นกระบวนการในการส่งสาร จึงจำเป็นต้องมีผู้รับสาร ซึ่งก็คือ ผู้อ่าน ดังนั้น ก่อนจะลงมือเขียน ผู้เขียนควรตระหนักให้แน่ชัดว่า จะเขียนให้กับใครอ่านโดยวิเคราะห์ความแตกต่างของผู้อ่านในเรื่อง วัย เพศ การศึกษา รายได้ เพราะบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ย่อมมีความสนใจในการอ่านที่ไม่เหมือนกันด้วย เช่น เด็กวัยรุ่นจะสนใจอ่านเรื่อง ชีวประวัติ การเดินทาง ประวัติศาสตร์ ส่วนผู้ใหญ่จะสนใจอ่านเรื่องที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความสำเร็จของบุคคลในอาชีพต่าง ๆ หรือผู้หญิงสนใจอ่านในเรื่องสวย ๆ งาม ๆ แฟชั่น เรื่องรักกระจุ๋มกระจิ๋ม ผู้ชายอ่านเรื่องช่าง เครื่องยนต์กลไก
                เมื่อผู้อ่านมีความสาคัญต่อการเขียนเป็นอย่างมากแล้ว ผู้เขียนจึงควรวิเคราะห์กลุ่มผู้อ่านเพื่อให้ได้ข้อมูลของผู้อ่านอย่างชัดเจน ซึ่ง อลิสา วานิชดี และปรีชา หิรัญประดิษฐ์ (2539, หน้า 43) ได้เสนอเทคนิคการวิเคราะห์ผู้อ่านไว้ดังนี้
                        1. ผู้อ่านมีความรู้เรื่องที่ผู้เขียนจะเขียนนั้นแล้วหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
                        2. ผู้อ่านควรทราบข้อมูลอะไรบ้างเกี่ยวกับหัวข้อนั้น
                        3. ผู้อ่านคาดหวังอะไรจากเรื่องที่เขียน
                        4. ผู้อ่านมีทัศนคติต่อเรื่องที่เขียนอย่างไร
                        5. ทาไมผู้อ่านจึงสนใจและทำไมจึงไม่สนใจเรื่องที่เขียน
                        6. ข้อมูลประเภทใดที่ผู้อ่านยอมรับและเชื่อถือ
                        7. เขียนอย่างไรให้เหมาะกับผู้อ่าน

          3. ลักษณะของงานเขียนที่ดี
            การเขียนเป็นการแสดงความคิด ความรู้สึก ความรู้ ให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจในเจตนาของผู้เขียน งานเขียนที่ดีควรจะมีลักษณะดังนี้
                        1. ชัดเจน ผู้เขียนต้องเลือกใช้คำที่มีความหมายเด่นชัด อ่านเข้าใจง่าย ไม่คลุมเครือ
                        2. ถูกต้อง ในการเขียนต้องคำนึงถึงความถูกต้องทั้งในด้านการใช้ภาษา ความนิยมและเหมาะสมกับกาลเทศะ
                        3. กะทัดรัด ท่วงทำนองการเขียนจะต้องมีลักษณะใช้ถ้อยคำน้อยแต่ได้ความหมายชัดเจน
                        4. มีน้าหนัก งานเขียนที่ดีต้องมีลักษณะเร้าความสนใจ สร้างความประทับใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการเน้นคา การเรียงลำดับคำในประโยค การใช้ภาพพจน์
                        5. มีความเรียบง่าย งานเขียนที่ใช้คำธรรมดาที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย ไม่เขียนอย่างวกวน ไม่ใช้คาปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ จะมีผลทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและเกิดความรู้สึกกับงานเขียนนั้นได้ง่าย
  

            การเขียน คือ ทักษะการใช้ภาษาชนิดหนึ่ง เป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด จินตนาการ ประสบการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก เป็นการสื่อสารหรือสื่อความหมายโดยใช้ตัวหนังสือในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆ การเขียนเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ การฝึกฝนควรเริ่มจากมีความรู้พื้นฐานในเบื้องต้นทั้งเรื่องการสะกดคำ การใช้คำ ประโยค สำนวนโวหาร และการเขียนย่อหน้า ผู้เขียนควรมีการวางแผนการเขียนอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงความน่าสนใจและความเหมาะสมกับผู้อ่านด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น